Hyundai Motor Group เปิดตัวแบรนด์ซอฟต์แวร์ ‘Pleos’ เผยโฉมเทคโนโลยี SDV และความร่วมมือใหม่
2025-06-09กลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป เปิดตัวแบรนด์ซอฟต์แวร์ ‘Pleos’ พร้อมเผยแผนพัฒนาเทคโนโลยี SDV และความร่วมมือระดับโลก
• กลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป เปิดตัวแบรนด์ซอฟต์แวร์ Pleos และเผยแผนสร้างระบบนิเวศ ‘Cloud Mobility’ ที่เน้นซอฟต์แวร์ในงาน Pleos 25 Developer Conference
• เปิดตัว ระบบปฏิบัติการของรถยนต์ (Vehicle OS) ที่พัฒนาเอง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความสามารถในการขยายตัวของ
เทคโนโลยี SDV (Software-Defined Vehicles) บนโครงสร้าง E&E
• Pleos Connect ระบบอินโฟเทนเมนต์รุ่นใหม่ จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2026 และตั้งเป้าเพื่อนำระบบไปใช้กับรถยนต์กว่า 20 ล้านคันภายในปี 2030
• เปิดตัว Pleos Playground แพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สสำหรับนักพัฒนา เพื่อสนับสนุนการควบคุมรถยนต์และพัฒนาแอปพลิเคชันพร้อมส่งเสริมระบบนิเวศของแอปภายในรถ
• เปิดตัว Next Urban Mobility Alliance ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมต่อและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งในเมือง
• ประกาศแผนขยายระบบนิเวศของ SDV พร้อมเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง Google, Uber, Samsung, Naver, SOCAR และ Unity
โซล, 28 มีนาคม 2025 — กลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป (Hyundai Motor Group) เปิดตัวแบรนด์ซอฟต์แวร์ด้านการขับเคลื่อนยุคใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Pleos’ ในงานประชุมนักพัฒนา ‘Pleos 25’ ที่กรุงโซล พร้อมประกาศแผนความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อยกระดับระบบนิเวศแอปพลิเคชันภายในรถยนต์
งานเปิดตัวครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทฯ ในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อน โดยได้เผยความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี SDV (Software-Defined Vehicles) พร้อมแผนการสร้างตลาดและระบบนิเวศของแอปพลิเคชันภายในรถยนต์ผ่านระบบอินโฟเทนเมนต์รุ่นถัดไป
ภายในงาน Pleos 25 คุณชาง ซอง (Chang Song) ประธานและหัวหน้าฝ่าย Advanced Vehicle Platform (AVP) ของ Hyundai Motor และ Kia ได้กล่าวเปิดตัว Pleos อย่างเป็นทางการในฐานะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและแบรนด์ซอฟต์แวร์ด้านการขับเคลื่อนของกลุ่มบริษัทฯ
“ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี SDV มาตั้งแต่ปี 2023 และในวันนี้ เราเริ่มต้นเส้นทางใหม่ด้วยงาน Pleos 25 โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทที่มอบประสบการณ์การขับเคลื่อนที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์เป็นศูนย์กลาง” คุณซองกล่าว
“เป้าหมายสูงสุดของเราคือการบรรลุแนวคิด Cloud Mobility ที่ทุกรูปแบบการเดินทางเชื่อมโยงกันผ่านซอฟต์แวร์บนคลาวด์ และสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง Pleos จึงเป็นตัวกลางในการสร้างประสบการณ์การขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงกัน ตั้งแต่รถยนต์เดี่ยวไปจนถึงฟลีท จากฮาร์ดแวร์ถึงซอฟต์แวร์ และขยายสู่โครงสร้างพื้นฐานการขับเคลื่อนและเมืองโดยรวม”
ทำความรู้จัก ‘Pleos’ แบรนด์ซอฟต์แวร์ใหม่จากกลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป
Pleos คือแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ด้านการขับเคลื่อนอัจฉริยะ ที่สนับสนุนการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์ทุกชนิดให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอัตโนมัติและจัดการได้อย่างชาญฉลาด โดยเชื่อมโยงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงยานพาหนะ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งาน ธุรกิจ และเมืองต่างๆสร้างสภาพแวดล้อมด้านการขับเคลื่อนที่มีอิสระ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Pleos คือแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์แบบครบวงจร (End-to-End) ที่รวมองค์ประกอบสำคัญไว้ด้วยกัน ได้แก่:
• ชิปและคอนโทรลเลอร์ประสิทธิภาพสูง
• ระบบปฏิบัติการสำหรับยานยนต์ (Vehicle OS)
• ระบบอินโฟเทนเมนต์ (Pleos Connect)
• โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์
• ระบบบริหารจัดการฟลีทยานยนต์
• โซลูชันการขับเคลื่อนและโลจิสติกส์อัจฉริยะ
เทคโนโลยีภายใต้แพลตฟอร์มนี้รองรับฟังก์ชันการขับเคลื่อนอัจฉริยะหลากหลายรูปแบบ เช่น การขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อยานพาหนะ การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และการวางแผนเส้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบขนส่งในเมือง
Pleos เป็นคำผสมระหว่างคำภาษากรีก ‘Pleo’ ซึ่งแปลว่า “มากขึ้น” กับ ‘OS’ (Operating System) ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างคุณค่าใหม่ที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ทั้งในการเคลื่อนย้ายของผู้คนและสิ่งของ เพื่อมุ่งสู่การขับเคลื่อนที่มีอิสระมากยิ่งขึ้น
เพื่อก้าวสู่สภาพแวดล้อมด้านการขับเคลื่อนที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ กลุ่มบริษัทฯ ได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยี SDV (Software-Defined Vehicle) ผ่านนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ควบคู่กับการพัฒนาระบบปฏิบัติการของรถยนต์ และระบบอินโฟเทนเมนต์ Pleos Connect ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้รถยนต์สามารถทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพสูง พร้อมเชื่อมต่อ กับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ
คุณสมบัติเด่นของระบบปฏิบัติการยานยนต์ (Vehicle OS) จากกลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป
• ระบบปฏิบัติการควบคุมยานยนต์ที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทฯ เอง รองรับการทำงานแบบ Software-Defined Vehicle (SDV) อย่างสมบูรณ์
• ใช้สถาปัตยกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Architecture) โดยผสาน คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงภายในรถ
(High Performance Vehicle Computer: HPVC) เข้ากับ คอนโทรลเลอร์เฉพาะตามโซนต่าง ๆ
• เพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรของระบบด้วยโครงสร้างแบบแยกส่วน (Modular) และมาตรฐานเดียวกัน (Standardized Architecture)
• รองรับการอัปเดตและขยายฟังก์ชันอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแยกการพัฒนาระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ออกจากกัน
Pleos Connect คืออะไร?
• ระบบอินโฟเทนเมนต์เจเนอเรชันใหม่ ที่พัฒนาบนพื้นฐานของ Android Automotive OS (AAOS) พร้อมฟีเจอร์เฉพาะตัวที่สามารถปรับแต่งและใช้งานง่าย
• รองรับระบบนิเวศของนักพัฒนา Android ได้อย่างเปิดกว้างและสามารถขยายตัวได้สูงสุด
• เพิ่มความสามารถในการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อมอบประสบการณ์ที่คุ้นเคยให้กับผู้ใช้
• มาพร้อมอินเทอร์เฟซที่คล้ายสมาร์ทโฟน รองรับการใช้งานแบบ Split View, Multi-Window
และระบบผู้ช่วยอัจฉริยะด้วยเสียง ‘Gleo AI’ สำหรับควบคุมฟังก์ชันต่าง ๆ ของรถอย่างชาญฉลาด
• มอบประสบการณ์ส่วนตัวด้วยระบบ ‘Pleos ID’ โปรไฟล์ผู้ใช้แบบเชื่อมต่อที่สามารถเข้าถึงได้ในรถยนต์ทุกคันที่ใช้ระบบ Pleos Connect
• Pleos Connect มีกำหนดเปิดตัวใช้งานจริงในรถยนต์ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2026 และจะขยายสู่รถยนต์มากกว่า 20 ล้านคันภายในปี 2030
Pleos Playground คืออะไร?
• แพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาแบบเปิด ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอปมือถือจากภายนอกสามารถเข้าถึงจุดเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ของระบบยานยนต์ได้อย่างอิสระไม่ว่าจะเป็นตัวรถยนต์ ระบบคลาวด์ การวิเคราะห์ข้อมูล หรืออุปกรณ์เสริม
• มีชุดเครื่องมือพัฒนา AAOS SDK และเครื่องมือพื้นฐาน รวมถึง SDK เสริมจากระบบ Pleos Connect, แนวทางการออกแบบ (Design Guides), API, ตัวอย่างโค้ดและเครื่องมือช่วยเหลือสำหรับนักพัฒนา
• นักพัฒนาสามารถเผยแพร่แอปพลิเคชันของตนผ่าน ‘App Market’ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดและอัปเดตแอปได้อย่างง่ายดายเหมือนในสภาพแวดล้อมของมือถือ
• รองรับฟีเจอร์ Plug & Play (PnP) เพื่อเชื่อมต่อฮาร์ดแวร์ภายนอกเข้ากับรถยนต์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องตั้งค่าเพิ่มเติมช่วยขยายขอบเขตของการพัฒนาอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์
แพลตฟอร์มการพัฒนาแบบเปิดนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความหลากหลายให้กับระบบนิเวศของแอปพลิเคชันภายในรถยนต์ โดยการลดข้อจำกัดและอุปสรรคสำหรับนักพัฒนาในการเข้าร่วมพัฒนาแอปภายในรถยนต์ ด้วยแนวทางแบบเปิด กลุ่มบริษัทฯ สามารถดึงดูดแนวคิดสร้างสรรค์จากนักพัฒนาทั่วโลกตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนนวัตกรรมในยุคใหม่ของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ (SDV)
Next Urban Mobility Alliance (NUMA) คืออะไร?
กลุ่มบริษัทฯ ได้เปิดตัว Next Urban Mobility Alliance (NUMA) อย่างเป็นทางการในงาน Pleos 25 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนผ่านคลาวด์
(Cloud-Based Mobility) ผ่านการจัดตั้งกรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางในระบบขนส่งอัตโนมัติ
ความร่วมมือนี้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคม อาทิ สิทธิในการเข้าถึงการเดินทาง, การลดลงของประชากรในบางภูมิภาค และ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับเสรีภาพในการเดินทางสำหรับทุกคน
แกนความร่วมมือของ NUMA: เสรีภาพในการเดินทาง
1. Freedom to Move
• Shucle: แพลตฟอร์มบริการขนส่งตามความต้องการ (Demand-Responsive Transport - DRT) ที่ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของเกาหลีใต้เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางในพื้นที่ที่ขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะ
• อุปกรณ์ ‘R1’ และ Nano Mobility: อุปกรณ์การเดินทางที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Shucle เพื่อมอบโซลูชันการเดินทางที่หลากหลายสำหรับกลุ่มประชากรที่เข้าถึงการเดินทางได้ยาก
• กลุ่มบริษัทฯ ยังดำเนินการทดลองใช้งานโซลูชันด้านการขับเคลื่อนในเขตเมืองร่วมกับรัฐบาลของประเทศในยุโรปและเกาหลีใต้เพิ่มเติม
2. ระบบนิเวศยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle Ecosystem)
• Autonomous Vehicle Foundry (AVF): โครงการของกลุ่มบริษัทฯ ที่มุ่งจัดหายานยนต์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านยานยนต์อัตโนมัติทั่วโลก
• AVF นำเสนอทางออกแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ ชุดพัฒนา (Development Kits), ระบบบริหารจัดการฟลีท, การผลิต, การรับรองมาตรฐานไปจนถึง การสนับสนุนทางเทคนิค
• Mr. Noah Zych หัวหน้าฝ่าย Autonomous Mobility and Delivery ของ Uber ประกาศแผนขยายบริการ Robotaxi ผ่านความร่วมมือกับ AVF พร้อมผลักดันโครงการความร่วมมือระดับโลก เพื่อเสริมสร้างพันธมิตรและขยายการใช้งานเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติในวงกว้าง
3. ระบบแอปพลิเคชันภายในรถยนต์ (In-vehicle Application Ecosystem)
• พันธมิตรระดับโลกประกาศแผนพัฒนา ประสบการณ์การใช้งานที่ไร้รอยต่อระหว่างรถยนต์และอุปกรณ์พกพา ผ่านแพลตฟอร์ม
Pleos Connect, Pleos Playground และ App Market
• Samsung Electronics: คุณJaeyeon Jung รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่าย SmartThings ประกาศการเชื่อมต่อรถยนต์ SDV ของกลุ่มบริษัทฯ เข้ากับสมาร์ตโฮมและอุปกรณ์พกพาผ่าน SmartThings โดยเพิ่มความสะดวกสบายด้วยเครือข่าย Galaxy Find Network
• Google: คุณDenis Nekliudov วิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสและหัวหน้าทีม Automotive OS กล่าวถึงการยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้งานภายในรถ ผ่านการผสาน AAOS เข้ากับบริการของ Google และการขยายความร่วมมือด้านระบบนำทางและอินโฟเทนเมนต์ด้วย AI
• Naver: คุณJaehoo Lee หัวหน้าฝ่ายแอปพลิเคชัน นำเสนอแผนการปรับแต่งระบบ AI, การค้นหา, แผนที่ และบริการคอนเทนต์ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม SDV รวมถึงบริการแบบเฉพาะบุคคล เช่น การค้นหาด้วยเสียง และการแนะนำจุดหมายปลายทาง โดยเชื่อมโยงประสบการณ์การใช้งานมือถือกับรถยนต์
• SOCAR: CEO คุณJaeuk Park เสนอการเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการแชร์รถ (Car-sharing) ผ่านแพลตฟอร์ม SDV และการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อรองรับฟีเจอร์เฉพาะบุคคลขั้นสูง เช่น การปลดล็อกรถ และปรับตำแหน่งเบาะอัตโนมัติบนพื้นฐานของระบบคลาวด์และโปรไฟล์ผู้ใช้งาน
• Unity: คุณTatsuya Matsubara หัวหน้าฝ่ายยานยนต์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงการขยายประสบการณ์ด้านเกมและคอนเทนต์ภายในรถ ด้วยความบันเทิงแบบเฉพาะบุคคล และการนำเสนอการแสดงผล 3 มิติแบบเรียลไทม์สู่ระบบอินโฟเทนเมนต์ในรถยนต์
แผนงานสู่การขับขี่อัตโนมัติระดับ 2+
กลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ประกาศแผนนำระบบการขับขี่อัตโนมัติระดับ 2+ (Level 2+) มาใช้งานภายในสิ้นปี 2027
โดยระบบ L2+ นี้จะสามารถรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวรถยนต์ผ่านกล้องและเรดาร์ และสามารถตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น
ด้วยโครงสร้างการตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning
กลุ่มบริษัทฯฮุนได มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพของโมเดล AI อย่างต่อเนื่องผ่านการลดขนาดโมเดล (Lightweighting) รวมถึงเสริมประสิทธิภาพในการฝึกโมเดลและการประมวลผล ด้วยการใช้หน่วยประมวลผลเฉพาะด้าน AI (Neural Processing Unit – NPU) ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับยานยนต์ และโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการฝึกแบบขนาดใหญ่ จากความพยายามทั้งหมดนี้ กลุ่มบริษัทฯ ตั้งเป้าให้ยานยนต์สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็น ‘เครื่องจักรแห่งการเรียนรู้’ (Learning Machines) อย่างแท้จริง
ไฮไลต์จากงานประชุมนักพัฒนา Pleos 25
ในงาน Pleos 25 ผู้เข้าร่วมได้ร่วมสัมผัสและมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ (SDV) และระบบนิเวศของแอปพลิเคชันภายในรถยนต์ โดยภายในงานประกอบด้วยโซนและเซสชันหลากหลายที่นำเสนอหัวข้อสำคัญ อาทิ:
• SDV Zone: นำเสนอเทคโนโลยีหลักของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ (SDV) รวมถึงสถาปัตยกรรมระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Architecture), ระบบอินโฟเทนเมนต์รุ่นใหม่, รถทดสอบระบบ SDV และประสบการณ์ใช้งานจริงของ Pleos Connect
• Pleos Connect Apps Zone: พันธมิตร 26 รายร่วมจัดแสดงแอปพลิเคชันและบริการภายในรถที่พัฒนาบนแพลตฟอร์ม Pleos Connect พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางในการขยายระบบนิเวศของแอปในอนาคต
• Cloud Mobility Zone: จัดแสดงระบบปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนในเมืองบนพื้นฐานของข้อมูลเรียลไทม์ พร้อมโซลูชันที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มบริษัทฯ เอง อาทิ ระบบบริหารจัดการฟลีท (FMS) และระบบบริหารจัดการการขนส่ง (TMS) รวมถึงยานยนต์ที่เชื่อมต่อกับระบบการทำงานแบบเรียลไทม์ และระบบขนส่งตามความต้องการ (DRT)
• Track Sessions: เวทีการนำเสนอ 24 รอบ โดยนักพัฒนาในหัวข้อการพัฒนา SDV และการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ในระบบขับเคลื่อน
• Hands-on Sessions: เวิร์กช็อปลงมือจริงสำหรับการสร้างและเผยแพร่แอปภายในรถโดยใช้ SDK และ API ของ Pleos Connect รวมถึง SDK สำหรับมือถือ
ภายในงาน Pleos 25 กลุ่มบริษัทฯฮุนได ได้เผยแพร่ระบบนิเวศซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยี SDV พร้อมเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง การขยายโปรแกรมสนับสนุนนักพัฒนาและความร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิดจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ภายใต้กลยุทธ์ Software-Defined Everything (SDx) กลุ่มบริษัทฯ วางแผนเชื่อมต่อโซลูชันด้านการขับเคลื่อน บริการ และอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเพลิดเพลินกับ เสรีภาพในการเดินทางได้อย่างเท่าเทียมในทุกมิติ